ความหมาย คุณลักษณะ และประเภทของพระโพธิสัตว์
โดย พระมหาจู่ล้อม ชูเลื่อน
ในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นพระโพธิสัตว์ คือ บุคคลผู้บำเพ็ญบารมีธรรมอุทิศตนช่วยเหลือสัตว์ผู้มีความทุกข์ยากและจะได้ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พุทธศาสนาฝ่ายมหายานเรียกบุคคลเช่นนี้ว่าเป็นผู้มีพลังหรืออำนาจมุ่งสู่ โพธิญาณ (Dayal, 1987:7) เป็นผู้บำเพ็ญความดีหรือที่เรียกว่าบารมีธรรมอย่างยิ่งยวดเพื่อการบรรลุถึง พระโพธิญาณ
การดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์เป็นไปเพื่อบำเพ็ญบารมีเพื่อตนและเป็นการเสีย สละช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน การกระทำทุกอย่างนี้ดำเนินไปได้ด้วยความรักความปรารถนาในพระพุทธภาวะอันเป็น ความหมายของพระโพธิสัตว์ ด้วยความรักในพระโพธิญาณพระโพธิสัตว์จึงสามารถกระทำได้ทุกอย่าง เบื้องต้นแต่สละได้ซึ่งสิ่งของภายนอกจนถึงชีวิตและสิ่งเสมอด้วยชีวิตคือบุตร และภรรยาของตน ดังตัวอย่างพุทธดำรัสที่ตรัสในขณะเสวยพระ ชาติเป็นพระโพธิสัตว์ความว่า
เมื่อเราจะให้ทานก็ดี กำลังให้ทานก็ดี ให้ทานแล้วก็ดีจิต
ของเราไม่เป็นอย่างอื่น เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
(ขุ.จริยา.๓๓/๖๖/๗๓๖)
จักษุทั้งสอง เป็นที่น่าเกลียดชังสำหรับเราก็หาไม่ แม้ตัว
เราเองจะเป็นที่เกลียดชังก็หาไม่ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็น
ที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้จักษุ ฉะนี้แล
(๓๓/๖๖/๗๓๖)
เราตามรักษาศีลของเรา มิใช่รักษาชีวิตของเรา เพราะใน
กาลนั้นเราเป็นผู้รักษาศีล เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
(๓๓/๖๕/๗๕๔)
อย่างไรก็ตาม คำว่าพระโพธิสัตว์มาจากศัพท์สองศัพท์ประกอบกันคือคำว่าโพธิ ที่แปลว่าความตรัสรู้กับสัตตะ ที่แปลว่า สัตว์ในคำที่เรียกว่าสัตว์โลก (วัดบวรนิเวศวิหาร, ๒๕๓๒:๒๙) อันมีความหมายครอบคลุมทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานซึ่งจะเห็นได้จากอดีตชาติ ของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ นอกเหนือจากที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นมนุษย์แล้ว บางพระชาติพระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นพญาวานร เสวยพระชาติเป็นช้าง เสวยพระชาติเป็นนาคราชเป็นต้น ดังพระพุทธดำรัสต่อไปนี้
ในภพที่เราเป็นพญาวานร ช้างฉัททันต์ และช้างเลี้ยงมารดาเป็นศีลบารมี
ในภพที่เราเป็นพญาไก่ป่า สีลวนาค และพญากระต่ายเป็นทานปรมัตถบารมี
(ขุ.จริยา.๓๓/๑๒๒/๗๗๖)
พระโพธิสัตว์ไม่ว่าจะครองสภาวะความเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็บำเพ็ญ บารมีธรรมเพื่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย เพราะคำว่า “โพธิสัตว์” หมายถึงผู้ปรารถนาพระโพธิญาณ คือ การตรัสรู้ โดยไม่ได้มีเป้าหมายเป็นอย่างอื่น เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความรู้แจ้งโลก ซึ่งหมายรวมถึงโลก ทั้ง ๓ คือ
- สัตว์โลก อันได้แก่ หมู่สัตว์ชนิดต่างๆ รวมทั้ง เทวดา มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน
- โอกาสโลก อันได้แก่ โลกคือที่อยู่อาศัย หมายถึง ระบบจักรวาล และดวงดาวต่างๆ
- สังขารโลก อันได้แก่ โลกคือสังขารที่เกิดจากการปรุงแต่ง สรุปให้แคบเข้า ได้แก่ นามรูป นั่นเอง (บรรจบ บรรณรุจิ, ๒๕๒๙:๙-๑๐)
การที่บุคคลได้บรรลุถึงพระโพธิญาณ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นเกิดขึ้นได้ยาก (กิจโฉ พุทธานมุปปาโท) ดังนั้น บุคคลผู้จะบรรลุ พระโพธิญาณได้นั้นจึงจำต้องบำเพ็ญบารมีธรรมเป็นเวลานานยิ่ง เมื่อบุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ นั้นหมายความว่าเขาย่อมต้องประสบกับความลำบากในชีวิตนานับประการ นับตั้งแต่การต้องจำยอมสละทรัพย์สินภายนอกร่างกายเป็นเบื้องต้น จนถึงการยอมสละชีวิตของตนเข้าแลกเป็นที่สุดและการปฏิบัติเช่นนั้นก็ต้อง ประกอบไปด้วยความเต็มใจของตน หากไม่สามารถปฎิบัติได้ ความหมายของคำว่าพระโพธิสัตว์ในตัวบุคคลนั้นก็ไม่สามารถเกิดขึ้นตามมา
แม้พระโพธิสัตว์จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องแลกด้วยชีวิตแต่พระโพธิสัตว์ ก็ใช่ว่าจะหวาดหวั่นต่อสถานการณ์เช่นนั้นไม่ ตรงกันข้ามพระโพธิสัตว์กลับมีใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวพร้อมที่จะเผชิญกับ สถานการณ์ที่ประสบอย่างเต็มใจ และยินดีด้วยมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยหวังให้คุณธรรมความดีที่บำเพ็ญนั้นเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ในกาลเบื้องหน้า
คุณลักษณะของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ผู้อยู่ในข่ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นมีองค์ประกอบสำคัญอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะตน ๔ ประการ คือ
๑. อุสสาหะ คือ ประกอบไปด้วยความเพียรอันมั่นคง
๒. อุมมังคะ คือ ประกอบไปด้วยปัญญาอันเชี่ยวชาญหาญกล้า
๓. อวัตถานะ คือ ประกอบไปด้วยพระอธิษฐานอันมั่งคงมิได้หวั่นไหว
๔. หิตจริยา คือ ประกอบไปด้วยเมตตาแก่สัตว์เป็นเบื้องหน้า
(พระนันทาจารย์, ม.ป.ป.:๑๑)
คุณลักษณะหรือเรียกว่าคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้เป็นอุปกรณ์หรือวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งที่พระโพธิสัตว์จะต้อง ปฏิบัติตามอย่างมั่นคงจนกว่าจะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายขั้นสูงสุดคือพระโพธิญาณ
ข้อที่ ๑ อุสสาหะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยความเพียรอันมั่นคงไม่ย่อท้อต่อความลำบาก ที่เกิดขึ้นในวัตรปฎิบัติของตน เป็นผู้ซื่อตรงมั่นคงต่อเป้าหมายสูงสุด ด้วยความรักความปรารถนาต่อจุดมุ่งหมายสูงสุดคือพระโพธิญาณจึงทำให้พระ โพธิสัตว์เป็นผู้มีความอุสสาหะ ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ด้วยคุณธรรมเฉพาะตน ไม่มีจิตคิดสยบต่อมารคือกิเลสเป็นต้น อันเป็นความชั่วที่คอยยั่วยุหรือขัดขวางไม่ให้บำเพ็ญความดีอย่างเต็มที่ เป็นผู้ข้ามพ้นปัญหาต่างๆ ด้วยความอุสสาหะยิ่ง
และเพราะการจะบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ได้โดยยาก แต่หากพระโพธิสัตว์สามารถข้ามพ้นความยากลำบากนั้นไปได้ด้วยความมุ่งมั่นไม่ ยอมแพ้ พระโพธิสัตว์ก็สามารถบรรลุถึงความสำเร็จคือความเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างแน่ นอน ดังคำอุปมาซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการที่จะได้บรรลุถึงพุทธภาวะที่ ปรากฎในอรรถกถาตอนหนึ่งที่ว่า
“ผู้ใดสามารถที่จะใช้กำลังแขนของตนว่ายข้ามห้วงแห่งจักรวาลทั้งสิ้นอันเป็น น้ำผืนเดียวกันหมดแล้วถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้” (ขุ.ชา.อ.๓/๒๕)
ข้อที่ ๒ อุมมังคะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยปัญญา อันเชี่ยวชาญหาญกล้ารู้จักไตร่ตรองคิดหาเหตุผล อย่างรวดเร็วมีศักยภาพ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลที่ดี ตลอดทั้งรู้จักแยกแยะความดี ความชั่ว ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ถ้าไม่ทำจะมีผลดี ชั่ว มากน้อยแค่ไหน ทำแล้วจะเกิดผลดี เลว ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีความกล้าหาญ ตัดสินปัญหา ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมากที่สุด
ข้อที่ ๓ อวัตถานะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระอธิษฐานอันมั่งคงไม่หวั่นไหว คือเป็นผู้มีจิตอันแน่วแน่มั่นคงในสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่คิดละเลิกในสิ่งที่ทำเสียกลางคัน ตราบใดที่ภารกิจอันนั้นยังไม่ถึงที่สุด คือ ความสำเร็จก็ไม่ละทิ้งให้เสียการ อธิษฐานธรรมนี้ย่อมมาพร้อมกับธรรมอีก ๓ ประการ คือ วิริยะ ขันติ และสัจจะ ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นธรรมะที่มีประกอบกันอยู่ เมื่อยกขึ้นข้อหนึ่งก็ย่อมมีอีก ๓ ข้อประกอบอยู่ด้วยเสมอ (วัดบวรนิเวศวิหาร, ๒๕๓๒:๑๙๙)
เมื่อมีความตั้งมั่นในกิจอันใดอันหนึ่งอย่างมั่นคงแล้ว จำต้องกระทำด้วยความมีวิริยะ และอดทนทั้งอดทนต่อการกระทำกิจอันนั้นและอดทนต่อสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่อาจเป็นตัวขัดขวางไม่ให้กิจที่กระทำดำเนินไปได้อย่างสะดวก สุดท้ายคือ มีความจริงใจที่จะกระทำกิจให้ลุล่วงจนถึงที่สุด กิจนั้นจึงจะสัมฤทธิ์ผลได้
ข้อที่ ๔ หิตจริยา พระโพธิสัตว์ เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตาสัตว์เป็นเบื้องหน้า เป็นผู้ประพฤติประโยชน์ด้วยคำนึงถึงผู้อื่นเสมอโดยไม่เลือกชนิดผู้รับ ประโยชน์ พระโพธิสัตว์ถือว่าการบำเพ็ญการช่วยเหลือแก่ผู้อื่นนั้นคือภารกิจที่ ต้องกระทำตามหน้าที่ คือเป็นการบำเพ็ญบารมีธรรม
คุณลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการ การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เป็นการสละตนเองเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นทุกชีวิตอย่างเสมอหน้าเท่าเทียม กันเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย คือ ความบริบูรณ์ด้วยปัญญาอันเป็นโลกุตตรสมบัติ คือ พระสัพพัญญุตญาณ
คุณลักษณะที่สำคัญของพระโพธิสัตว์อาจสรุปได้เป็น ๒ ประการ คือ
๑. การบำเพ็ญตนช่วยเหลือสรรพสัตว์ อย่างไร้ขอบเขตหรือประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ)
๒. การบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อการบรรลุพระโพธิญาณในอนาคตหรือประโยชน์ตนเอง (อัตตัตถะ)
การดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อยู่กับภาระที่จะ พึงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์ ๒ ประการข้างต้น ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พระโพธิสัตว์ทุกองค์ต้องมีและประโยชน์ทั้งสองนั้นก็มี ความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างไร้ขอบเขตก็คือ การได้ชื่อว่าเป็นการบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตนเอง ตรงกันข้ามการบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตนเอง ก็คือการได้มีโอกาสอุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่มวลสัตว์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน
คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่มีในตัวของพระโพธิสัตว์ คุณลักษณะนั้นเรียกว่า “อัชฌาสัยของพระโพธิสัตว์” มี ๖ อย่าง คือ
๑. อโลภะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยประกอบด้วยความไม่โลภ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษของความโลภและอยากได้ในอารมณ์ที่น่าชอบพอพึงใจ
๒. อโทสะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยประกอบด้วยความไม่โกรธ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษของความโกรธ
๓. อโมหะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยประกอบด้วยความไม่หลง เป็นผู้มีปกติเห็นโทษของความหลง
๔. เนกขัมมะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยในการถือบวช เป็นผู้มีปกติเห็นโทษในการอยู่ครองเรือน
๕. ปวิเวกะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยในความสงบ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษในการอยู่คลีกับหมู่คณะ
๖. นิสสรณะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยในการออกจากทุกข์ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษในภพและคติทั้งปวง (วิสุทธิ. ๑ / ๗๔-๗๕)
อัชฌาสัยทั้ง ๖ ประการที่กล่าวมาข้างต้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นลักษณะนิสัยที่เป็นพื้น ฐานของพระโพธิสัตว์ เป็นองค์ประกอบที่เอื้อต่อการบรรลุถึงพุทธภาวะได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม บุคคลผู้ปรารถนาพุทธภาวะจำต้องผ่านการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ก่อน เพื่อให้คุณธรรมเกิดความบริบูรณ์และแก่กล้าอันเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะ บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ และบุคคลผู้จะได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ต้องถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติเบื้องต้นแห่งการทำให้เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งเรียก ว่า “อัฏฐธัมมสโมธาน” คือ การประชุมรวมกันของธรรม ๘ ประการ ธรรมในที่นี้หมายถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เมื่อพร้อมมูลอยู่ในบุคคลใดแล้วก็ยังผลให้บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็น “นิยตโพธิสัตว์” (บรรจบ บรรณรุจิ, ๒๕๒๙:๑๒) คือพระโพธิสัตว์ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน คุณสมบัติเบื้องต้นหรือองค์ประกอบ ๘ ประการนั้น มีดังนี้
๑. ความเป็นมนุษย์ คือ บุคคลผู้ตั้งจิตปรารถนาบรรลุพระโพธิญาณนั้น จะต้องดำรงภาวะเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเทวดา ความปรารถนาไม่สามารถสำเร็จได้
๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ คือ แม้จะเกิดเป็นมนุษย์ก็ตามแต่ก็จำกัดเฉพาะเพศบุรุษเท่านั้น จะเป็นสตรี บัณเฑาะก์ หรืออุภโตพยัชชนก (คนสองเพศ) ความปรารถนาก็หาสำเร็จไม่เช่นกัน
๓. เหตุ คือ มีอรหัตตูปนิสัย อันได้แก่ มีความพร้อมหรือมีศักยภาพพอที่จะสามารถบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้ในอัตภาพ ที่กำลังเป็นอยู่หรือในขณะนั้นหากมีความปรารถนา
๔. การเห็นพระศาสดา คือ การได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแล้วตั้งความปรารถนาความ เป็นพระพุทธเจ้าในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จะตั้งความปรารถนา ณ สถานที่นอกจากนี้ เช่นโคนต้นไม้เป็นต้นย่อมไม่สำเร็จ
๕. การบรรพชา คือ การต้องครองเพศเป็นบรรพชิตหรือกำลังถือบวชเท่านั้น จะอยู่ในเพศคฤหัสถ์แล้วตั้งความปรารถนาก็ย่อมไม่สำเร็จ
๖. การสมบูรณ์ด้วยคุณ คือ ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ อันได้แก่การได้บรรลุอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ แล้วตั้งความปรารถนาจึงจะสำเร็จได้
๗. การกระทำที่ยิ่งใหญ่ คือ การกระทำบุญอันยิ่งด้วยชีวิต อันได้แก่การได้บริจาคชีวิตถวายแด่พระพุทธเจ้าที่เรียกว่าการกระทำอันยิ่งใหญ่
๘. ความพอใจ คือ มีฉันทะความพอใจอันใหญ่หลวง มีอุตสาหะและความพยายามที่จะบรรลุถึงพระโพธิญาณ คือ ความรักความปรารถนาที่จะบรรลุสัพพัญญุตญาณอย่างแรงกล้า แม้ว่าจะมีอุปสรรคที่ยากต่อการฝ่าฟันก็ไม่ยอมแพ้ (ขุ.ชา.อ.๓/๒๔-๒๕)
องค์ประกอบของธรรม ๘ ประการนี้เป็นองค์คุณที่จะทำบุคคลให้เป็น “นิยตโพธิสัตว์” จะขาดเสียซึ่งข้อใดข้อหนึ่งเป็นอันไม่บริบูรณ์ กล่าวคือ ความเป็นพระโพธิสัตว์ผู้มีพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้าก็เป็นอันเกิดขึ้นไม่ได้ กล่าวโดยสรุป คือ บุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ต้องเริ่มต้นด้วยความถึงพร้อมด้วย คุณสมบัติดังกล่าวแล้ว จึงเริ่มดำเนินการบำเพ็ญบารมีธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า (พุทธการกธรรม) ๑๐ ประการเป็นลำดับต่อไป
อนึ่งประเด็นคุณสมบัติที่จะทำบุคคลให้เป็นพระโพธิสัตว์นี้ ในฝ่ายเถรวาท (หีนยาน) มีคติว่าบุคคลผู้นั้นต้องสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการดังกล่าวแล้วเป็นเบื้องต้นก่อนจึงจะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ แต่ในคติฝ่ายอาจาริยวาท (มหายาน) นั้นมีว่า ทุกคนสามารถบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ได้เหมือนกันโดยไม่จำเป็นต้องมี คุณสมบัติข้างต้นครบ คตินิยมในฝ่ายอาจาริยวาทนั้นมักให้ความสำคัญกับความเป็นพระโพธิสัตว์เป็น อย่างมาก เพราะต้องการบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าโดยหวังจะได้ช่วยขนสรรพสัตว์ ให้พ้นทุกข์ได้คราวละมากๆ (จำนง ทองประเสริฐ, ในจำนงค์ ทองประเสริฐ, บรรณาธิการ, ๒๕๔๑:๓๐)
ดังนั้น คติแห่งการดำเนินชีวิตจึงมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ อีกทั้งประเด็นเรื่องบารมีก็มีความแตกต่างจากคติในฝ่ายเถรวาทในส่วนขององค์ ธรรมแม้จะมีจำนวนเท่ากันก็ตาม ซึ่งฝ่ายมหายานนั้นได้แบ่งจำนวนบารมีไว้เป็น ๒ ประเภท คือ (๑) บารมีประเภทหลัก และ (๒) บารมีประเภทรอง ดังนี้
บารมีประเภทหลัก ได้แก่
๑. ทานบารมี (การเสริมสร้างความเป็นคนเสียสละ)
๒. สีลบารมี (การเสริมสร้างชีวิตแห่งความมีระเบียบวินัย)
๓. ขันติบารมี (การเสริมสร้างความเข้มแข็ง-อดทน)
๔. วิริยบารมี (การเสริมสร้างความกล้าหาญ)
๕. ฌานบารมี (การเสริมสร้างสมาธิจิต)
๖. ปัญญาบารมี (การเสริมสร้างปัญญาชั้นสูง)
สำหรับบารมีประเภทรอง ได้แก่
๑. อุปายบารมี (การเสริมสร้างความคิดริเริ่ม)
๒. ปณิธานบารมี (การเสริมสร้างความมีอุดมการณ์ของชีวิต)
๓. พลบารมี (การเสริมสร้างปัญญาขั้นต้น)
๔. ญาณบารมี (การเสริมสร้างปัญญาขั้นต้น) (บุณย์ นิลเกษ, ๒๕๓๔ ก:๓๒-๓๓)
โดยลักษณะทั่วๆ ไป แนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ของทั้งสองนิกายนี้ จึงมีความแตกต่างกัน
ประเภทของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ในนิกายเถรวาทมี ๓ ประเภทสำคัญๆ คือ
๑. อุคฆติตัญญูโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีปัญญามากกว่าศรัทธา พระโพธิสัตว์ประเภทนี้ใช้เวลาบำเพ็ญบารมีน้อยกว่าพระโพธิสัตว์ประเภทอื่น เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า พระปัญญาธิกพุทธเจ้า
๒. วิปจิตัญญูโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีศรัทธามากกว่าปัญญา พระโพธิสัตว์ประเภทนี้ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีมากกว่าอุคฆติตัญญูโพธิสัตว์ แต่น้อยกว่าเนยยโพธิสัตว์ เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า สัทธาธิกพุทธเจ้า
๓. เนยยโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีความเพียรมากกว่าปัญญา ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีมากกว่าทั้งสองจำพวกข้างต้น เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า พระวิริยาธิกพุทธเจ้า (เทพพร มังธานี, ๒๕๔๓:๑๓)
สำหรับเกณฑ์การแบ่งประเภทพระโพธิสัตว์ข้างต้นนี้เป็นไปโดยอาศัยหลักดังต่อไปนี้
๑. ระยะเวลาในการบำเพ็ญบารมีจนกระทั่งได้ตรัสรู้ธรรมเร็วหรือช้ากว่ากัน
๒. อินทรียธรรมที่เป็นตัวนำในการตรัสรู้ธรรมมีมากน้อยแตกต่างกันคือ ปัญญา ศรัทธา วิริยะ (บรรจบ บรรณรุจิ, ๒๕๒๙:๘๒)
กระบวนการในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์
ระยะเวลาแห่งการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ทุกองค์นั้นต้องใช้เวลาในการ สั่งสมบารมีเพื่อให้เกิดความแก่กล้าเป็นเวลานาน กล่าวคือ ถ้ายังมิได้ถึงกำหนด ๔ อสงไขยแสนกัปป์หรือ ๘ อสงไขยแสนกัปป์หรือ ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะให้ทานอันยิ่งเหมือนด้วยทานของพระเวสสันดรทุกๆ วันก็ดี จะบำเพ็ญพระบารมีอันยิ่งให้เสมอด้วยทานนั้นทุกๆ วันก็ดี ด้วยหวังจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเร็วๆ นั้นก็ไม่สำเร็จ (พระนันทาจารย์, ม.ป.ป.:๖-๗)
อันเปรียบเสมือนต้นไม้ต้นเล็กซึ่งยังไม่ถึงเวลาแห่งการผลิตดอกออกผล แม้บุคคลจะหมั่นบำรุงรักษาโดยการในปุ๋ยหรือพรวนดินให้มากสักเพียงใดก็ไม่ เป็นผลสำเร็จ เพราะต้นไม้นั้นยังไม่มีภาวะแห่งความพร้อมที่จะออกผล ในระหว่างนั้นพระโพธิสัตว์ต้องพบกับความยุ่งยากต่างๆ นานัปการซึ่งเปรียบเสมือนข้อทดสอบความมุ่งมั่นจริงใจในการปฏิบัติ คติอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นกล้าหาญของพระโพธิสัตว์ต่อการ ไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคต่างๆ คือการยอมสละได้แม้ที่สุดคือชีวิตดังคาถาบทหนึ่งมีความว่า
พึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ เมื่อจะรักษาชีวิต
ก็พึงสละอวัยวะ นรชนเมื่อระลึกถึงธรรม ก็พึงสละทรัพย์ อวัยวะ และชีวิตแม้ทั้งสิ้น
(ขุ.ชา.๒๘/๓๘๓/๑๐๗)
กระบวนการในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธสัตว์เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่พระ โพธิสัตว์ประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการ (อัฏฐธัมมสโมธาน) โดยบริบูรณ์แล้ว จากนั้นพระโพธิสัตว์จึงได้เริ่มตั้งปณิธานคือ ความมั่นคง แน่วแน่ ไม่เปลี่ยนแปลง หรือความมุ่งมั่นตั้งใจจริงซึ่งในฝ่ายพุทธศาสนามหายานเรียกปณิธานของพระ โพธิสัตว์นี้ว่า “มหาจตุรปณิธาน” มี ๔ ประการ คือ
๑. เราจะละกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้น
๒. เราจะตั้งใจศึกษาพระธรรมทั้งหลายให้เจนจบ
๓. เราจะโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
๔. เราจะบำเพ็ญตนให้บรรลุถึงอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
(เสถียร โพธินันทะ และเลียง เสถียรสุต, ๒๕๒๙:๑)
ปณิธานทั้ง ๔ ข้อนี้ กล่าวได้ว่าอยู่ในฐานะเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระโพธิสัตว์ และเปรียบเสมือนสิ่งอันเป็นเครื่องกระตุ้นความมุ่งมั่นทะเยอทะยานอันแรงกล้า ในการบำเพ็ญบารมีธรรมของผู้เป็นพระโพธิสัตว์ และพระโพธิสัตว์จะต้องมีปณิธานทั้ง ๔ ข้อนี้โดยหน้าที่ของตน
ข้อที่ ๑ พระโพธิสัตว์ในฐานะผู้จะตรัสรู้สัจธรรม อยู่เหนือกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายจึงต้องบำเพ็ญธรรมให้แก่กล้าอันเป็น เครื่องทำลายกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นเพื่อทำให้ตนเองบริสุทธิ์หมดจด เป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ได้
ข้อที่ ๒ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะต้องศึกษาธรรม คือความจริงของชีวิตให้เกิดความแจ่มแจ้งแทงตลอดให้เห็นซึ่งความจริงใน ธรรมชาติ จะต้องเป็นผู้ขวนขวายค้นคว้าหาความรู้จนถึงที่สุดคือความรู้ทุกอย่าง (สัพพัญญุตญาณ) อันเป็นส่วนประโยชน์ตน
ข้อที่ ๓ พระโพธิสัตว์เมื่อพัฒนาตัวเองจนถึงที่สุดกล่าว คือ เป็นผู้บรรลุพระโพธิญาณอันได้ชื่อว่า ถึงฝั่ง คือ พระนิพพานแล้ว เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งความปรารถนาที่ได้ตั้งไว้แล้ว ก็เป็นผู้มีปัญญาความสามารถจะต้องใช้ปัญญาความสามารถนำเอาความจริงที่ได้ค้น พบนั้นไปเผยแผ่แก่มวลสัตว์ทั้งหลายผู้อยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ ให้พบกับความสุขที่แท้จริง
ข้อที่ ๔ พระโพธิสัตว์ คือ ผู้จะได้เข้าถึงแดนพุทธภูมิ ได้แก่การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอย่างแน่นอนหากพระโพธิสัตว์มีความ มุ่งมั่นที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งความปรารถนาของพระโพธิสัตว์ที่ต้องการเข้าถึงพุทธภูมิ คือการบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้นเพราะต้องการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ พ้นจากทุกข์ เพราะการช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายของพระโพธิสัตว์เป็นการช่วยเหลือที่ เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพมากกว่าพระอรหันต์ และพระปัจเจกพระพุทธเจ้า
โดยเฉพาะพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่สามารถที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้เลย เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เป็นผู้มีปัญญาเห็นสัจธรรมเฉพาะตัวเอง แต่ไม่สามารถชี้แจงแสดงนัยแห่งสัจธรรมให้แก่ผู้อื่นได้เห็นตามได้โดยเหตุที่ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นตรัสรู้แต่อรรถรสสิ่งเดียว มิได้ตรัสรู้ธรรมรสจึงมิอาจจะยกพระโลกุตตรธรรมขึ้นสู่บัญญัติได้ (พระนันทาจารย์, ม.ป.ป.:๑๕)
พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่ยึดถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต พระพุทธเจ้าคือบุคคลในอุดมคติของพระโพธิสัตว์ที่พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญ บารมีธรรมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เพื่อก้าวเข้าสู่ฐานะอันเป็นความสำเร็จสูงสุดเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าทุก พระองค์ แล้วดำเนินตามพุทธกิจที่พึงปฏิบัติ คือ การกระทำตามปณิธานที่ได้วางไว้ กล่าวคือ จักได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วทำการช่วยเหลือสัพพสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฎฎะสงสาร ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำริในพระทัยในคราวที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็น สุเมธดาบส ซึ่งเป็นพระชาติแรกของการเริ่มต้นเป็นพระโพธิสัตว์ความตอนหนึ่งที่ว่า
...วันนี้เราเมื่อปรารถนาอยู่ก็พึงเผากิเลสของเราได้ จะมีประโยชน์อะไรแก่เราเล่า
ด้วยการทำให้แจ้งธรรมในที่นี้ด้วยเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก
เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
จะมีประโยชน์อะไรแก่เราด้วยลูกผู้ชายผู้มีรูปร่างแข็งแรงนี้ข้ามฝั่งไปคนเดียว
เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วจักให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาข้ามฝั่งด้วยการกระทำ
อันยิ่งใหญของเรา ด้วยลูกผู้ชายผู้มีรูปร่างแข้งแรงนี้ เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
แล้วจักให้เหล่าชนมากมายข้ามฝั่ง เราตัดกระแสน้ำคือสงสาร
ทำลายภพทั้งสามแล้ว ขึ้นสู่ธรรมนาวาจักให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาข้ามฝั่ง
(ขุ.ชา.อ.๓/๒๓-๒๔)
บารมี ๑๐ ประการ
การบำเพ็ญประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เรียกว่า การบำเพ็ญคุณธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า (พุทธการกธรรม) หรือเรียกว่า บารมี ซึ่งในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่ผู้วิจัยทำการศึกษานี้ บารมีธรรมที่พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์มี ๑๐ ประการ คือ
๑. ทาน ได้แก่ การสละให้สิ่งที่สละให้มี ๓ ระดับ คือ
- ทรัพย์สิ่งของภายนอก
- อวัยวะในร่างกายของตน
- ชีวิตตนเอง หรือสิ่งเสมอด้วยชีวิตตน คือ บุตร ภรรยา
๒. ศีล ได้แก่ คุณธรรมเครื่องปราบกิเลสอย่างหยาบ ได้แก่ กิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ไม่สามารถยับยั้งใจไว้ได้ต้องลงมือกระทำความชั่ว ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ศีลที่พระโพธิสัตว์รักษามี ๒ คือ
- นิจศีล (ศีล ๕)
- อุโบสถศีล (ศีล ๘)
๓. เนกขัมมะ ได้แก่ การออกจากกาม มี ๒ คือ
- ออกจากกามโดยสละบ้านเรือนออกบวช
- ออกจากกามโดยบำเพ็ญสมาธิจนได้บรรลุญาณ
๔. ปัญญา ได้แก่ ความรอบรู้ ความรู้อย่างลึกซึ้ง มี ๓ คือ
- สุตมยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน
- จินตามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการคิดพิจารณา
- ภาวนามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการฝึกจิต อบรมจิต
๕. วิริยะ ได้แก่ ความพากเพียรพยายาม การกระทำอย่างต่อเนื่อง ในทางที่ถูกต้องเรียกว่า สัมมัปปธาน มี ๔ อย่างคือ
- สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น
- ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
- ภาวนาปธาน เพียรทำบุญให้เกิดขึ้น
- อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาการทำบุญไว้ต่อเนื่อง
๖. ขันติ ได้แก่ ความอดทนมี ๓ คือ
- ตีติกขาขันติ ความอดทนแบบอดกลั้นต่ออารมณ์อันไม่พึงประสงค์ต่างๆ
- ตบขันติ ความอดทนด้วยอำนาจตะบะ คือ สมาธิข่มใจ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส
- อธิวาสนขันติ ความอดทนระงับยับยั้งไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นเลยแม้ต้องเอาชีวิตเข้าแลก
๗. สัจจะ ได้แก่ ความจริง ความเที่ยงแท้ หมายถึง ความจริงใจ พูดและทำตามความคิด
๘. อธิษฐาน ได้แก่ ความตั้งมั่น ความมั่นคง ไม่หวั่นไหว ในความคิด กระทำสิ่งใดก็ทำจนบรรลุเป้าหมาย
๙. เมตตา ได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี ด้วยอำนาจคุณธรรม ไม่ใช่รักและปรารถนาดีด้วยอำนาจกามราคะ
๑๐. อุเบกขา ได้แก่ ความวางเฉย ความปล่อยวาง หมายถึง อาการที่จิตเป็นกลาง ไม่ยึดใน ความดีที่ตนเองได้กระทำลงไป และไม่ทุกข์ใจในการทำผิดซึ่งพลาดพลั้งเกิดขึ้น (บรรจบ บรรณรุจิ, ๒๕๒๙:๑๙-๒๑)
บารมีทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นพระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญด้วยความเสียสละตนเองเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นส่วนของความเมตตากรุณาต่อปวงสัตว์ และจะต้องฝึกหัดบำเพ็ญบารมีอันนั้นให้เกิดเป็นความต่อเนื่อง และจะต้องปฏิบัติให้ได้ตั้งแต่ระดับสามัญ (บารมี) จนถึงระดับที่กระทำได้ยากสุด (ปรมัตถบารมี) พระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติได้เพื่อให้เกิดคุณธรรมแก่กล้าอันเป็นป็นปัจจัย ให้เกิดโลกุตตรปัญญาคือความเป็นพุทธะในที่สุด และหากพระโพธิสัตว์ไม่สามารถบำเพ็ญบารมีทั้งสิบนี้ให้ครบถ้วนก็ไม่มีทางที่ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ (จำนง ทองประเสริฐ, ในวิมล ไทรนิ่มนวล, บรรณาธิการ, ๒๕๓๙:๓๗๙)
คุณธรรมหรือบารมีของพระโพธิสัตว์แม้มีถึง ๑๐ ประการแต่เมื่อจัดรวมเข้าด้วยกันแล้วก็มีข้อที่เป็นหลักคลุมข้ออื่นทั้งหมด ๒ อย่าง คือ
๑. กรุณา คือ เห็นแก่ผู้อื่น มุ่งจะบำบัดทุกข์นำสุขมาให้แก่สรรพสัตว์
๒. ปัญญา คือ ฝึกตนยิ่งขึ้นไปด้วยใฝ่รู้ตลอดเวลาให้มีปัญญารู้แจ้งธรรม มองเห็นถูกต้องว่า อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่สรรพสัตว์ที่ตนจะทำประโยชน์ให้ (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต), ๒๕๔๒:๗๙)
ในขณะที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ๑๐ ก็มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือหมู่สัตว์ทั้งปวงให้ได้รับโลกิยสุขเพื่อพระ โพธิสัตว์ได้บรรลุความดีคือพระโพธิญาณอันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด แล้วก็คิดหวังจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ได้รับโลกุตตรสุขเช่นที่พระองค์ได้รับ กล่าวคือ แม้ขณะบำเพ็ญบารมีก็ดี แม้ได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายตามที่หวังแล้วก็ดี ทั้ง ๒ ประการนี้ก็เป็นไปเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั้งสิ้นอันเป็นส่วนของ พระกรุณา
การบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการดำเนินไปได้อย่างถูกต้องตามหลักวิธีและเกิดผลสัม ฤทธิ์ในที่สุดก็ด้วยเหตุที่พระโพธิสัตว์รู้จักใช้ปัญญาคิดหาเหตุผลไตร่ตรอง ความเป็นไปของกระบวนการการบำเพ็ญบารมีว่า ในสถานการณ์ที่เผชิญนั้นควรแสดงออกอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสมและเป็นปัจจัย เอื้อให้ได้บรรลุถึงซึ่งพระโพธิญาณ ถ้าสถานการณ์นั้นทำให้พระโพธิสัตว์ไตร่ตรองแล้วว่าการสละชีวิตเท่านั้น จะเป็นทางรอดของสัตว์ผู้เผชิญความทุกข์และถูกหลักการแห่งการบำเพ็ญบารมี พระโพธิสัตว์ก็สามารถทำได้อันเป็นส่วนของพระปัญญา
บารมี ๑๐ ประการนี้ เป็นอุดมคติธรรมของพระโพธิสัตว์ คือ เป็นธรรมที่พระโพธิสัตว์ทุกองค์ต้องบำเพ็ญเป็นหลักธรรมสำหรับยึดเหนี่ยว ปฏิบัติเพื่อการบรรลุสัจธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ พระโพธิสัตว์ได้ยึดเอาหลักธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นข้อปฏิบัติเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหา หรือความยากลำบาก ในการตัดสินใจกระทำ บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นคุณธรรมสำคัญที่จะทำให้พระโพธิสัตว์ได้ก้าวไปสู่ พุทธภาวะ หรือบรรลุพระโพธิญาณ พระโพธิสัตว์ได้ปฏิบัติในบารมีธรรมเหล่านั้นครบทั้ง ๑๐ อย่าง คือ ไม่น้อยกว่าหรือมากกว่า ๑๐ ประการ ดังกล่าวแล้ว ดังพระบาลีที่ว่า
...บารมีของเรา ๑๐ ประการนี้ เป็นส่วนแห่งพระโพธิญาณอันเลิศ
บารมียิ่งกว่า ๑๐ ไม่มี หย่อนกว่า ๑๐ ก็ไม่มี เราบำเพ็ญบารมีทุกอย่าง
ไม่ยิ่งไม่หย่อน เป็นบารมี ๑๐ ประการ ฉะนี้แล
(ขุ.จริยา.๓๓/๓๖/๓๓)
บารมีธรรมทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นพระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญให้ครบ จะขาดเสียซึ่งข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้เพราะเป็นการไม่ครบองค์คุณ ซึ่งระดับการปฏิบัติก็สามารถจัดแบ่งได้ตามคุณภาพหรือความเข้มข้นเป็น ๓ ระดับ คือ
๑. ระดับบารมีหรือระดับสามัญ
๒. ระดับอุปบารมี หรือ ระดับกลาง
๓. ระดับปรมัตถบารมี หรือ ระดับสูงสุด
ระดับสามัญ เป็นระดับอันมีความยากลำบากน้อยสุดคือต้องสละวัตถุภายนอก ระดับปานกลางเป็นระดับอันมีความยากลำบากกว่าระดับแรก คือต้องแลกด้วยอวัยวะทางร่างกายและสุดท้าย ระดับสูงสุดซึ่งมีความยากลำบากที่สุด เพราะต้องเสียสละซึ่งชีวิตหรือสิ่งเสมอด้วยชีวิต คุณธรรมหรือพุทธการกธรรม ๑๐ ประการดังกล่าว พระโพธิสัตว์ต้องปฏิบัติได้ทั้ง ๓ ระดับ คือ สามัญ ปานกลาง และสูงสุด ดังนั้น การบำเพ็ญบารมีอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณเหล่านี้จึงจัดเป็นบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ (๓๓/๓๖/๓๒)
แม้จะมีความยากลำบากเพียงไร พระโพธิสัตว์ก็สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่ขัดเคืองใจ และกลับเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายสำหรับพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งมั่นต่อพระโพธิ ญาณดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสในคราวเสวยพระชาติเป็นพญานาคภูริทัตตะความว่า
การที่เราสละชีวิตของตนเป็นของเบาแม้กว่าหญ้า
การล่วงศีลของเราเป็นเหมือนดังว่าพลิกแผ่นดินขึ้น
(๓๓/๑๗/๗๔๘)
อีกทั้งบุคคลผู้ได้ชื่อว่า เป็นพระโพธิสัตว์ย่อมเห็นพระโพธิญาณ เป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด แม้กระทั่งชีวิต และสิ่งเสมอด้วยชีวิต คือ บุตร และ ภรรยา ไม่ใช่ชีวิตและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตนจะไม่สำคัญ แต่เพราะตนเห็นว่า พระโพธิญาณ มีความสำคัญกว่ายิ่งนัก เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้ชีวิตทั้งของตนและผู้อื่นพบกับความสุขที่แท้จริง และชั่วนิรันดร์ได้ ดังพุทธดำรัสที่ได้ตรัสในขณะเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรมีความว่า
...เราสละพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ผู้เป็นบุตรธิดาและพระนางมัทรี
เทวีผู้มีจริยาวัตรงดงามไม่คิดถึงเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณนั้นเอง
บุตรทั้งสอง...พระเทวีมัทรีเป็นที่น่ารังเกียจก็หาไม่แต่พระสัมพัญญุต
ญาณ เป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงให้บุตรธิดาและภรรยาผู้เป็นที่รัก
(๓๓/๑๑๘-๑๑๙/๗๔๒)
ความตั้งใจมั่นในการบำเพ็ญซึ่งบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ยอมสละได้แม้ ชีวิตตนและสิ่งอันเสมอด้วยชีวิตคือบุตรและภรรยา จึงเปรียบเสมือนการที่บุคคลได้เผชิญกับโรคร้ายซึ่งเปรียบเสมือนความทุกข์ใน วัฏฏสงสาร แต่มีความประสงค์ที่จะหายขาดจากโรคร้ายนั้นซึ่งเปรียบเสมือนความต้องการที่ จะพ้นจากวังวนของวัฏฏสงสาร ก็จำเป็นที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากการเยียวยาที่มีฤทธิ์แรงครั้งใหญ่ซึ่ง เปรียบเสมือนกับความกล้าหาญในการบำเพ็ญบารมีแม้ต้องสละชีวิต เพื่อกลับสู่ภาวะปกติทางร่างกายและมีความสุขดังเดิมตลอดไป ซึ่งเปรียบเสมือนกับการบรรลุถึงพุทธภาวะซึ่งหมายถึงการเข้าสู่นิพพานฉะนั้น
จากการได้ศึกษาข้างต้นจะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ได้ชื่อว่า เป็นพระโพธิสัตว์นั้นคือผู้ดำเนินชีวิตเพื่ออุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ อื่นอย่างแท้จริง ปณิธาน ๔ ประการ คือ เครื่องยืนยันถึงความหมายข้อนี้ การยอมเสียสละตนเพื่อสรรพสัตว์ของพระโพธิสัตว์มิใช่เกิดมีขึ้นเพียงคราวใด คราวหนึ่งในบรรดา ๒ คราว กล่าวคือ ในคราวเป็นพระโพธิสัตว์กำลังบำเพ็ญบารมี พระโพธิสัตว์ก็ทรงมีกรุณาธรรมอันไร้ขอบเขตแก่ปวงสัตว์ผู้ทุกข์ยาก
และในคราวเมื่อได้ตรัสรู้ธรรรมเป็นพระพุทธเจ้าแล้วพระโพธิสัตว์ก็มิได้ทอด ทิ้งสัตว์โลกผู้มืดบอดไปด้วยอวิชชาให้เผชิญกับความทุกข์ของชีวิต แต่พระโพธิสัตว์ก็ได้ชี้หนทางเครื่องพ้นจากวังวนแห่งความทุกข์แก่มวลสัตว์ ด้วยมหากรุณาคุณ พระโพธิสัตว์หาใช่อาศัยบารมีธรรมที่ตนได้บำเพ็ญช่วยเหลือสรรพสัตว์เพื่อการ บรรลุพระโพธิญาณแล้วเสวยโลกุตตรสุขแต่เพียงผู้เดียวไม่ แต่เจตจำนงของพระโพธิสัตว์ในชั้นแรกคือการบำเพ็ญตนช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อให้ เป็นบารมีธรรมที่สมบูรณ์ อันเป็นเครื่องค้ำหนุนให้ตนบรรลุพระสัพพัญญุตญุตญาณก่อน แล้วจึงดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ทั้งปวงให้บรรลุความสุขอันเป็นความสุขอย่าง แท้จริงเหมือนที่ตนได้บรรลุถึงเป็นชั้นที่สองต่อไป
จุดมุ่งหมายสูงสุดในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ คือ การได้บรรลุถึงพุทธภาวะอันได้แก่การได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า การเข้าถึงพุทธภาวะเป็นสิ่งพึงปรารถนาของพระโพธิสัตว์ เพราะความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นอุดมภูมิที่อยู่ในอุดมคติของพระโพธิสัตว์ทุก องค์ การบำเพ็ญบารมีทุกครั้งพระโพธิสัตว์จะปรารภถึงพุทธภูมิเป็นเหตุแห่งการกระทำ ดังตัวอย่างพุทธดำรัสที่ตรัสในคราวเป็น อกิตติดาบสโพธิสัตว์ความมีว่า
เมื่อเราให้ทานแก่อินทพราหมณ์นั้น เราจะได้ปรารถนายศและลาภ
ก็หามิได้ แต่เราปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้นจึงได้ประพฤติ
กรรมเหล่านั้น ฉะนี้แล
(๓๓/๑๐/๗๒๘)
การบำเพ็ญบารมีแต่ละคราวนั้นพระโพธิสัตว์มิได้หวังผลอย่างอื่นเป็นจุดมุ่ง หมายหลักอันเบี่ยงไปจากความปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ความปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณก็คือ ความปรารถนาความสุขให้เกิดแก่มวลสรรพสัตว์เพราะการหวังที่จะได้บรรลุพระสัพ พัญญุตญาณ คือ ความต้องการที่ช่วยเหลือสัตว์ทั้งมวลให้พ้นจากทุกข์อันเป็นทุกข์ประจำ คือ ชาติ ชรา มรณะ อย่างถูกวิธี แต่ทั้งนี้พระโพธิสัตว์มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองพัฒนาตัวเองให้ สามารถเป็นที่พึ่งของตัวเองได้เสียก่อน จึงจะสามารถแนะนำหรือช่วยเหลือผู้อื่นได้ อุปมาเหมือนบุคคลจะช่วยเหลือผู้อื่นขึ้นจากตมได้นั้น จะต้องช่วยเหลือตัวเองให้พ้นจากตมนั้นเสียก่อน
ฉะนั้น พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีธรรมทั้งหลายด้วยมีความปราถนาพระโพธิญาณเป็นเหตุ ปรารภทำให้พระโพธิสัตว์มีความมุ่งมั่นจริงใจต่อวัตรปฏิบัติในบารมี ในขณะเดียวกันบารมีธรรมทั้งหลายก็เป็นเหตุแห่งความสัมฤทธิ์ คือ การบรรลุพระโพธิญาณ จึงกล่าวได้ว่า การบำเพ็ญบารมีธรรมกับความใคร่ปรารถนาซึ่งพระโพธิญาณเป็นเหตุปัจจัยหนุน เนื่องแก่กันและกันให้เกิดขึ้น
อนึ่ง เมื่อกล่าวถึงจุดมุ่งหมายแห่งการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์แล้ว จะเห็นได้ว่าย่อมเป็นไปเพื่อ
๑. การตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระโพธิสัตว์เองก่อน
๒. การรื้อขนปวงชนทั้งหลายทั้งปวงออกไปจากห้วงทุกข์ระทมแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ (บุณย์ นิลเกษ, ๒๕๓๔ ก:๔๒)
จุดมุ่งหมายทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่บุคคลผู้เป็นพระโพธิสัตว์มีเหมือนกัน เพราะพระโพธิสัตว์ทุกองค์ได้ชื่อว่าเป็นนิยตโพธิสัตว์คือสัตว์ที่จะได้ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอนหากไม่ละทิ้งความพยายามเสียในระหว่าง และจะต้องทำหน้าที่ของความเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์จะต้องอยู่ในระเบียบปฏิบัติเหล่านี้
คัดลอกมาจาก ::
พระมหาจู่ล้อม ชูเลื่อน. (๒๕๔๖). ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในทศชาติชาดก. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล